หนึ่งในภารกิจสำคัญก็คือ การตั้งบริษัทประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Insurance) โดยร่างกฎกระทรวงได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา หลังจากที่ธอส.ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคที่นายขรรค์ ประจวบเหมาะ เป็นเอ็มดีธอส. เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วแต่ก็ติดปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องของการคิดเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้น
เรื่องนี้ นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอาไว้ หลังครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวว่า การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเข้ามาช่วยในเรื่องความเสี่ยงในการปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนหาเช้ากินค่ำที่ไม่มี statement ให้สามารถมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสามารถผ่อนได้ในระยะยาวขึ้น จากที่เคยผ่อน 60 ปี ก็อาจจะให้ผ่อนได้ยาวกว่านั้น โดยมี Insurance เข้ามาช่วยประกันความเสี่ยง ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถมีบ้านอยู่อาศัยได้โดยที่ภาระการผ่อนไม่กระทบกับการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังเข้าไปรองรับการเข้าสู่สังคมผู้วัย (aging society) ซึ่งทุกวันนี้ธอส.ก็ทำในเรื่องของ Reverse Mortgage เป็นโครงการนำร่องอยู่แล้ว ซึ่ง Insurance ก็ได้เข้ามาช่วยในเรื่องของความเสี่ยงในการให้สินเชื่อกับผู้สูงวัยด้วย ส่วนในเรื่องของค่าเบี้ยประกัน เมื่อ ธอส. เข้าไปทำเองก็จะสามารถบริการจัดการเองได้ไม่ให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินไป สำหรับรูปแบบขององค์กร ธอส.คงไม่ทำเองอาจจะใช้วิธีการร่วมลงทุน หรือ joint venture กับบริษัทประกันซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ
คงต้องรอเช็คความคืบหน้ากันต่อไป หลังจากได้เอ็มดีคนใหม่ว่าจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร
ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย แต่ด้วยภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ใช้กันแบบวันชนวันเดือนชนเดือนจนไม่มีเงินเหลือให้เก็บออม หรือคนที่มีภาระค่าเช่าบ้าน เช่าห้องพัก ไม่มีเงินมากพอที่จะไปผ่อนดาวน์ เพราะนั่นหมายถึงการรับภาระ 2 ทาง ทั้งจ่ายค่าเช่าและค่าดาวน์บ้าน ทำให้การมีบ้านเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เพราะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ที่เกินกำลัง ซึ่งการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้
ตามหลักการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารในกรณีที่ต้องการจะปล่อยกู้ให้ได้เกินกว่าที่ LTV กำหนด (Loan to Value) หรืออัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ หน่อยก็คือ ปกติธนาคารอาจจะปล่อยกู้ได้แค่ 80% การมีประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็จะทำให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้นเป็น 100% หรือมากกว่านั้น ส่วนที่เกิน 80% บริษัทประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเข้ามาจัดการประกันความเสี่ยงให้ โดยมีการคิดเบี้ยประกันในส่วนต่างตรงนั้นกับธนาคาร ซึ่งธนาคารก็บวกไปกับดอกเบี้ยผ่อนบ้านในที่สุด
จริงๆ แล้วรายละเอียดต่างๆ ของการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอะไรที่มากกว่านั้น แต่เพื่อความเข้าใจแบบง่ายๆ ก็จะประมาณที่กล่าวมา แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ตอนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ผ่อนปรนมาตรการ LTV ให้คนที่ซื้อบ้านหลังแรกกู้ได้ 100% + 10% อยู่แล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมีการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เสียเบี้ยไปเปล่าๆ เรื่องนั้นก็จริงครับ แต่สำหรับคนมีรายได้น้อย เขาอาจจะกู้ไม่ได้เลย หรือขอกู้ได้ในวงเงินที่ต่ำมากๆ ด้วยศักยภาพทางการเงินที่มีอยู่น้อยนิด แต่คนกลุ่มนี้ก็ฝันอยากมีบ้านเหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ เช่นกัน ตรงนี้แหละคือประโยชน์ของการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม การที่คนเราได้อะไรมาง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง เมื่ออยากจะมีบ้านก็กู้ได้เต็ม 100% เพราะมีประกันมาค้ำเอาไว้ ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของจากการเก็บออมด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามีปัญหาผ่อนไม่ไหวก็อาจจะพร้อมปล่อยให้บ้านโดนยึดเอาไปง่ายๆ สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียที่ธนาคารต้องสะสาง จึงเป็นเรื่องที่ต้องขีดวงให้ชัด และคัดกรองให้ดีว่า การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะใช้กับใคร ระดับไหน อย่างไรบ้าง อย่างเช่น สำหรับคนที่ต้องการมีบ้านหลังแรก รายได้ต้องไม่เกินเท่าไหร่ ถึงจะได้สิทธิ์นี้ และคงต้องมีระบบสร้างวินัยในการผ่อน วัดผลกันสักระยะก่อนที่จะอนุมัติให้กู้เงินได้ เป็นต้น
ถึงตรงนี้ก็คงได้แต่เฝ้าลุ้น เฝ้ารอ ว่า การจัดตั้งบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานในการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธอส.จะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อใด เพื่อที่จะได้มาสานฝันให้กับคนหลายๆ คนที่อยากมีบ้าน ให้ได้บ้านซะที อย่าให้เขารอนานก็แล้วกัน